วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

7 ขั้นตอนการทำผลงานวิชาการเพื่อขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะ คศ.3 เกณฑ์ใหม่

ก่อนอื่นเลยเด็กหญิงใจดีต้องกล่าวสวัสดีเพื่อนสมาชิกและครูผู้สนใจทุกท่านค่ะ  


ตอนแรกไม่คิดว่าจะเขียนบทความนี้  เพราะคิดว่าการเตรียมความพร้อมเรื่องนี้มีข้อมูลให้ศึกษามากมาย  ทั้งจากการสอบถามจากบุคคล  หรือหาข้อมูลทางเวปไซต์  แต่ก็มีครูมากมายหลายท่านเลย  ที่ไม่เคยทราบวิธีการทำผลงานวิชาการเพื่อขอรับการประเมินเลื่อนวิทยาฐานะ คศ.3  หรือบางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจและเป็นกังวล  เรื่องนี้ทำความเข้าใจไม่ยากเลยค่ะ  ถ้าอย่างนั้นเรามาเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับการประเมินเลื่อนวิทยฐานะเกณฑ์ใหม่ด้วยวิธีการพอสังเขปก่อนนะคะ 

ขั้นที่ 1  เราควรพิจารณาตนเองก่อน  นั่นคือ  ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเราได้รับภาระการสอนในกลุ่มสาระใด  ตรงกับวิชาเอกของเราหรือไม่  ถ้าเป็นเกณฑ์เก่า  ผู้ตรวจมักอ้างว่าขอชำนาญการไม่ตรงกับวิชาเอกที่เรียนมา  แต่พอเป็นเกณฑ์ใหม่เราไม่ต้องกังวล  เนื่องจากหลักเกณฑ์การตรวจเขาเข้ามาตรวจที่โรงเรียน  ดังนั้นให้เลือกทำผลงานฯ ในสาระที่เรารับผิดชอบและมีความถนัด  และนำผลงานฯ นั้นไปใช้สอนนักเรียนได้จริง

ขั้นที่ 2  เราควรพิจารณาเลือกหัวข้อที่จะทำผลงาน  หรือจะเรียกอีกอย่างว่า ชื่องานวิจัยนั่นแหละค่ะ  เพราะมันมีความสำคัญในการเป็น key word ของงานวิจัยอย่างมาก  แต่ตอนแรกไม่ต้องไปกังวลกับชื่อมาก  เพราะสามารถปรับแต่งให้สวยแค่ไหนก็ได้ตามใจเรา  แต่ให้นึกถึงหลักสำคัญคือ key word ที่เราจะทำงาน  โดยเราควรวิเคราะห์จากปัญหาที่พบในชั้นเรียน  ลองดูสิว่า  คะแนนในหน่วยใดที่นักเรียนทำได้น้อยมากกว่าหน่วยอื่นๆ  ถ้าคนที่เคยเห็นหรือเคยชินกับการทำผลงานฯ สมัยก่อนที่เน้นการทำแผนการจัดการเรียนรู้นั้น  ให้พักไว้ก่อนเลยนะคะ  เพราะว่าหลักในการทำวิจัยนั้น  เราควรมองถึงหน่วยย่อยหรือจุดเล็กๆ แล้วนำมาขยายเป็นจุดใหญ่เพื่อโฟกัสเป็นงานวิจัยค่ะ  เพื่อที่จะให้ผลของงานสัมฤทธิ์ผลกับเด็กจริง  เราจึงค่อยสร้างให้เขาจากจุดเล็กๆ ค่ะ  ถ้าคุณครูนำไปใช้จริงผลเกิดกับเด็กนักเรียนแน่นอนค่ะ  เช่น  ถ้าเราสอนสาระภาษาไทย  ชั้นป.1  นักเรียนของเรามีความเข้าใจหรือทำแบบฝึกหรือข้อสอบในเรื่องสระลดรูปได้น้อยมาก  เราก็ควรเลือกสระลดรูปมาทำการวิจัยค่ะ

ขั้นที่ 3  หลังจากที่เราได้หัวข้อในการทำแล้ว  เราควรศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นว่า  ถ้าเราจะทำเรื่องนี้  เราควรพัฒนานวัตกรรมใดมาใช้เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนานักเรียนของเราให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น  อาทิ  แบบฝึกทักษะ  บทเรียนสำเร็จรูปประกอบภาพการ์ตูน  ชุดกิจกรรมการเรียนรู้  ชุดการสอน  ชุดสื่อประสม  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  หนังสือเล่มใหญ่  หนังสืออ่านเพิ่มเติม  นิทาน  โปรแกรมการสอน  เช่น  เราจะทำเรื่องสระลดรูป  เราก็ควรศึกษางานวิจัยของผู้ที่เขาเคยทำเรื่องนี้  เพื่อดูความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมที่นำมาใช้กับนักเรียนของเราให้เหมาะสมกับตัวนักเรียน  เหมาะสมกับบริบทของสภาพแวดล้อม  ความพร้อมของครู  นักเรียน  และโรงเรียน  เป็นต้น  เมื่อเราเลือกได้แล้วว่าเราจะทำนวัตกรรมนั้นๆ เราึจึงกำหนดชื่อเรื่องที่ต้องการทำแน่นอน  เช่น  การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้  เรื่อง  สระลดรูป  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ส่วนความสละสลวยหรือตั้งชื่อให้เก๋ไก๋น่าสนใจเราค่อยมาเปลี่ยนทีหลังก็ได้ค่ะ  แต่หลักสำคัญต้องคงไว้นะคะ)  ส่วนท่านใดมีความประสงค์ที่จะใช้เทคนิคการสอนอื่นๆ มาเพิ่มเติมให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ยิ่งขึ้น  ก็สามารถใส่เข้าไปได้ตามความประสงค์  เช่น  การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้  เรื่อง  สระลดรูป  สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ  เป็นต้น

          ขั้นที่ 3.1 เมื่อเราได้ชื่อเรื่องหรือกำหนด key word ในการทำวิจัยได้แล้ว  ถ้าครูท่านใดยังไม่เคยผ่านการอบรมเพื่อขอรับการประเมินวิทยฐานะ  ท่านควรติดต่อไปทางเขตพื้นที่การศึกษาฯ ที่ท่านสังกัดอยู่  เพื่อสอบถามถึงการขอเข้ารับการอบรมให้เรียบร้อย (ซึ่งมีการเสียค่าธรรมการอบรม)  ในระหว่างการอบรมจะมีวิทยากรและพี่เลี้ยงคอยช่วยดูงานของเรา  ท่านสามารถนำเรื่องที่ท่านสนใจทำไปปรึกษาเพื่อคำแนะนำเพิ่มเติม  และแนวทางการจัดทำผลงานฯ ได้

          ขั้นที่ 3.2 ในระหว่างที่เราทำการอบรมอยู่นั้น  เราควรมองหาผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3-5 ท่าน  เพื่อให้ท่านเป็นที่ปรึกษาในการทำผลงานวิชาการของเรา  พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลลงลึกเกี่ยวกับงานวิจัยและแนวทางที่เกี่ยวข้องในการทำผลงานของเรา  เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำผลงาน

          ขั้นที่ 3.3 เตรียมความพร้อมและลงมือทำนวัตกรรม  เราควรศึกษาหลักสูตรและตัวชี้วัดในหน่วยการเรียนที่เราต้องการแก้ปัญหาหรือพัฒนานักเรียน  เพื่อทำตารางวิเคราะห์และออกแบบนวัตกรรม  โดยกำหนดเนื้อหาและประสบการณ์การสอน  กำหนดหน่วยการสอน  กำหนดสาระการเรียนรู้  และกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้  หลังจากนั้นดำเนินการสร้างนวัตกรรม  แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

          ขั้นที่ 3.4 เมื่อทำนวัตกรรมและแบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเสร็จแล้ว  หรือขณะทำเราควรนำไปปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของเราเป็นระยะว่าเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่  เพื่อให้เสียเวลาในการต้องมาแก้ไขงานในภายหลัง  ขณะที่เราทำนวัตกรรมแต่ละชุด  เราควรทำควบคู่ไปกับแผนการจัดการเรียนรู้  เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน  หลังจากเราทำนวัตกรรมเสร็จแล้ว  เราจึงรวบรวมแผนทำคู่มือการใช้ฯ ขึ้น  จากนี้งานประเมินด้าน 3 ก็เสร็จไป 2 อย่างแล้ว

          ขั้นที่ 3.5 การทดลองใช้นวัตกรรม  โดยทำการติดต่อโรงเรียนใกล้เคียงที่มีบริบทใกล้เคียงกับโรงเรียนเราเพื่อขอนำนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นไปทดลองใช้  ตามหลักการทดลองหาประสิทธิภาพของนวัตกรรม  (ตอนนี้ถ้าครูท่านใดยังไม่ได้ศึกษาข้อมูลแล้วมาอ่านอาจจะงงไปบ้าง  เมื่อท่านเข้าไปศึกษาแล้วจะเข้าใจมากขึ้น  เอาโอกาสหน้าจะมาอธิบายถึงขั้นตอนการทดลองหาประสิทธิภาพของนวัตกรรมเพิ่มเติมนะคะ)  ในการทดลองแต่ละขั้น  เมื่อมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง  เราจะนำผลนั้นมาพิจารณาและมาปรับปรุงผลงานของเราให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น  หลังจากนั้นนำมาใช้จริงกับนักเรียนของเราค่ะ  เก็บผลการทดลองตามจริง  เพื่อนำมาใช้ในการเขียนรายงานผลฯ

          ขั้นที่ 3.6 การเขียนรายงานผลฯ  พอมาถึงขั้นนี้แล้ว  แทบจะเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้ายแล้วนะคะ  ให้ดำเนินการเขียนตามหลักของการเขียนวิทยานิพนธ์ของมหาลัยใดมหาลัยหนึ่ง  ให้ยึดแบบฟอร์มของที่นั่นเลยค่ะ  ผู้ตรวจเขาเข้าใจค่ะ  หรือถ้าพอทราบว่า เขตตนเอง  ผู้ตรวจเป็นใครหรือถนัดการเขียนรายงานที่ไหนเราก็ใช้แบบฟอร์มการเขียนของที่นั่นเลยค่ะ  แต่ส่วนใหญ่การเขียนตามแบบฟอร์มราชภัฏจะเป็นการเขียนแบบกลางๆ ไม่ได้มีเอกลักษณ์การเขียนเหมือนกับมหาวิทยาลัยดังๆ เท่าไรนักค่ะ  (คราวหน้าจะเขียนรายละเอียดและตัวอย่างการเขียนรายงานผลฯ ให้อีกทีนะคะ  ติดไว้ 2 เรื่องแ้ล้วนะเนี่ย!!!)

ขั้นที่ 4  เมื่อเราเตรียมความพร้อมทำผลงานวิชาการฯ ไว้พร้อมสรรพแล้ว  ตอนนี้เรามาสู่ขั้นตอนการยื่นขอรับการประเมินวิทยฐานะกันนะคะ  พอเราอบรมเสร็จแล้วได้รับใบประกาศฯ แล้ว  เราจะยื่นขอรับการประเมินฯ กับเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัดอยู่  โดยจะมีการประเมินทั้ง 3 ด้าน  คือ  การประเมินด้านที่ 1  เป็นการประเมินด้านวินัย  คุณธรรม  จริยธรรม  และจรรยาบรรณวิชาชีพ  การประเมินด้านที่ 2  ด้านความรู้ความสามารถ  ในการประเมิน 2 ด้านนี้  ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาค่ะ  โดยเขียนแบบรายงาน ก.ค.ศ. 1/1, ก.ค.ศ. 2  และส่งรายงานพร้อมกับรอตรวจ  ซึ่งคณะกรรมการชุดที่ 1 จำนวน 3 ท่าน จะทำหน้าที่ประเมินด้าน 1 และ 2  ซึ่งจะเป็นคนละชุดกับผู้ประเมินด้าน 3 ค่ะ  โดยการประเมินด้าน 1 และ 2 จะทำการประเมินให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน  เมื่อผ่านแล้วเราจะส่งประเมินด้าน 3 โดยมีหลักเกณฑ์ในการขอรับการประเมินยื่นคำขอได้ตลอดปี  รอบปีละ 1 ครั้ง  โดยส่งคำขอพร้อมทั้งผลการปฏิบัติงาน (ด้านที่ 3)  จำนวน 4 ชุด


ขั้นที่ 5  ในระหว่างนี้  เราควรเขียน ก.ค.ศ.3/1  ซึ่งในการเขียนส่วนนี้มีคะแนนถึง 60 คะแนน ส่วนผลงานนวัตกรรมนั้นมีคะแนน 40 คะแนน  เพราะฉะนั้นการเขียน ก.ค.ศ.3/1 จึงมีความสำคัญมากทีเดียว  ต้องเขียนให้รอบคอบ  รัดกุม  ไม่เยิ่นเย้อ  และเว่อร์จนเกินเหตุ  และเขียนให้สอดคล้องกับการทำงานจริงๆ ของเราให้มากที่สุด  เพราะเวลาที่คณะกรรมการมาตรวจที่โรงเรียนจะให้ผลประกอบกัน

ขั้นที่ 6  เมื่อเราเตรียมความพร้อมทุกอย่างในการประเมินด้าน 3 เรียบร้อยแล้ว  เราจึงส่งผลงานฯ เพื่อขอรับการประเมิน  รอผลการประเมินจากคณะกรรมการ

ขั้นที่ 7  ประกาศผล  ซึ่งผลการผ่านเกณฑ์การประเมิน  ผู้รับการประเมินจะต้องได้รับการพิจารณาเห็นสมควรจากคณะกรรมการ 2 ใน 3 ท่าน  จึงจะผ่าน  โดยอาจจะผ่านการประเมินเลย  หรือผ่านแบบปรับปรุงก็ได้  

          ทั้งนี้  ปัจจุบันมีการไหลของเงินเดือนตามขั้นแล้ว  ดังนั้น การทำผลงานวิชาการ  ครูผู้สอนสนใจจะทำหรือเปล่าต้องขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของท่านค่ะ  เพราะถึงจะประเมินได้ว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม  เนื่องจากการศึกษาหรือการทำผลงานฯ คือการลงทุน  ถ้าเรียนแล้วหรือทำผลงานฯ แล้วเกิดประโยชน์สูงสุด  เิกิดคุณค่าต่อจิตใจ  มีผลดีต่อนักเรียนและเศรษฐกิจของครูผู้ทำ  ถ้าอย่างนั้นแล้วก็ควรทำค่ะ  แต่ถ้าเรียนแล้วหรือทำผลงานฯ แล้วไม่เกิดประโยชน์สูงสุด  ไม่เิกิดคุณค่าต่อจิตใจ  ไม่เกิดผลดีต่อนักเรียน  และไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของครูผู้ทำ  ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ควรทำค่ะ


          สุดท้ายนี้ ขอให้ครูผู้สนใจทำผลงานฯ  ประสบความสำเร็จดังที่มุ่งหวังไว้ทุกประการนะคะ

          และหากต้องการปรึกษาการทำผลงานฯ เพิ่มเติม  สอบถามไปที่คุณอัญชลี โทร. 08 6902 6686  หรือติดต่อทางอีเมล easyeasythesis@gmail.com  หรือทางเฟสบุ๊ค คลินิคการทำผลงานวิชาการ  หรือติดต่อผ่าน Line ID : tank2005

27 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับ มีประโยชน์มากๆ ครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณคะสำหรับคำแนะนำ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากค่ะ ที่ทำให้ได้คำตอบจากข้อสงสัยค่ะ ^-^

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณมากค่ะ จะได้นำความรู้ที่ได้รับไปเตรียมการค่ะ

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณมาก ๆ ครับ มีประโยชน์มากมาย จะนำไปประยุกต์ใช้ หากได้ผลจะเป็นคนหนึ่งที่ช่วยสานต่อความตั้งใจดีๆ ต่อไป

    ตอบลบ
  6. ขอบคุณค่ะ อ่านแล้วเข้าใจในวิธีการทำผลงาน

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ13 พฤษภาคม 2557 เวลา 06:13

    ขอบคุณมากคะ สำหรับความรุ้ก่อนเตรียมทำคศ.3

    ตอบลบ
  8. ขอคุณมากคะ กำลังจะเริ่มทำคะ

    ตอบลบ
  9. ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ ดำเนินการทำอยู่ครับ และมีเรื่องราวจะปรึกษาครับ

    ตอบลบ
  10. ขอบพระคุณมากๆๆค่ะ มีประโยชน์มาก พอเห็นแนวทางที่จะพัฒนาผลงานตนเองขึ้นบ้างแล้วค่ะ

    ตอบลบ
  11. ขอบคุณที่เป็นแสงส่องทางค่ะ ดีมากๆเลย

    ตอบลบ
  12. ขอบคุณมากครับ ช่วยเป็นแนวทางเบื้องต้นได้อย่างมากครับ

    ตอบลบ
  13. ขอให้คุณประสบแต่โชคลาภและสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตนะคะ

    ตอบลบ
  14. ขอบคุณมากๆๆ เลยนะคะ อ่านแล้วกระจ่างเลยค่ะ

    ตอบลบ
  15. ถ้าทำ คศ.3 ไม่ตรงเอกจะมีผลกับการทำ คศ.4 ไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เนื่องด้วยบริบทของโรงเรียนที่มีครูขาดแคลน บางโรงจำเป็นต้องให้คุณครูสอนในวิชาไม่ตรงเอก ซึ่งในการทำผลงานวิชาการเพื่อขอยื่นประเมินนั้น ตามเกณฑ์กำหนดไว้ว่า รายวิชาที่รายงานผลนั้น ผู้รายงานต้องปฏิบัติการสอนต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี แต่ถ้าสอบถามไปเขตหรือให้คำแนะนำ ขอแนะนำว่า ให้รายงานผลรายวิชาที่เราปฏิบัติการสอนต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกันดีกว่าค่ะ เพราะเป็นการป้องกันข้อสังเกตของกรรมการ เนื่องจากเป็นการรายงานผลการปฏิบัติงาน 2 ปีย้อนหลังน่ะค่ะ

      ลบ
    2. ส่วนในเรื่องว่า จะมีผลต่อการทำ คศ.4 หรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า ไม่มีผลค่ะ เพราะเราสามารถอธิบายเหตุผลได้ในการเขียนรายงานผลการปฏิบัติงาน (กคศ.3/1) ให้กรรมการเข้าใจได้ค่ะ

      ลบ
  16. ขอบคุณมากนะคะที่ไขข้อสงสัยกับการทำผลงานคศ.3ถ้ามีข้อสงสัยขออนุญาตสอบถามนะคะ

    ตอบลบ
  17. ตอนนี้ยังรับคำปรึกษาอยู่ไหมครับ

    ตอบลบ
  18. มีแผนกับวิจัย ไม่มีนวัตกรรมจะผ่านไหมค่ะ

    ตอบลบ